มิติที่ 1: การเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy)
1. สิทธิและความรับผิดชอบ (Digital Right) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะตระหนักและปฏิบัติตามสิทธิ เสรีภาพ บนสื่อสาธารณะในสังคมดิจิทัล โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย จริยธรรม ศีลธรรม และแนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข
2. การเข้าถึงดิจิทัล (Digital Access) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะค้นหา เข้าถึงสื่อและสารสนเทศดิจิทัลด้วยเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เข้าใจข้อดีและข้อเสียของประเภทการเข้าถึงและชนิดสื่อ รวมถึงสามารถใช้เครื่องมือค้นหา (Search Engine) ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ
3. การสื่อสารยุคดิจิทัล (Digital Communication) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะเข้าใจการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคม Online มีทักษะการคิด การวิเคราะห์ ความแตกต่างของการสื่อสารยุคดิจิทัล โดยการใช้ข้อความเพื่อสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดยมีวิจารณญาณแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็น และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสาธารณะ
4. ความปลอดภัยยุคดิจิทัล (Digital Safety) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะป้องกัน ลดความเสี่ยง และสามารถแก้ไขการถูกคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล การโจมตีจากมิจฉาชีพ เป็นต้น
5. การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ (Media and Information Literacy) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะเข้าใจ ตีความ ประเมิน และสร้างข้อมูล และสื่อในรูปแบบที่หลากหลายด้วยความตระหนักถึงผลกระทบของข้อมูลและสื่อต่าง ๆ ดังกล่าว โดยไม่ถูกครอบงำ เช่น การรู้เท่าทันข่าวปลอม (Fake News) และรู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)และสามารถใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการดำรงชีวิตทั้งของตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมรวมถึงการจัดการสื่อและสารสนเทศเบื้องต้น
6. มารยาทในสังคมดิจิทัล (Digital Etiquette) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะปฏิบัติตามหลักมารยาทในสังคมดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ไม่สร้างความเดือดร้อน
ความรำคาญให้กับบุคคลอื่น เช่น เรียนรู้มารยาทการใช้อินเทอร์เน็ต มารยาทการใช้โทรศัพท์ในพื้นที่สาธารณะ และการเอาใจใส่ผู้อื่น เพื่อสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะ รวมถึงเข้าใจอารมณ์ความอ่อนไหวของบุคคลหรือสังคมบนโลก Online ได้
7. สุขภาพดียุคดิจิทัล (Digital Health) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะเข้าใจอันตรายและผลกระทบด้านสุขภาพในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต โรคที่เกิดขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์และผลกระทบต่อเยาวชน การใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัล เพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยง ลดผลกระทบ จนถึงวิธีการรักษาเบื้องต้น ทั้งต่อตัวเอง และคนใกล้ตัว เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในยุคดิจิทัลได้
8. ดิจิทัลคอมเมิร์ซ (Digital Commerce) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะเข้าใจการทำธุรกิจ Online ประเภทต่าง ๆ รวมถึงอันตราย ภัย และความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมนั้น พร้อมทั้งวิธีป้องกัน ลดความเสี่ยงและรับมือ กับภัยอันตราย และความเสี่ยงเหล่านั้น รวมถึงเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวกับดิจิทัลคอมเมิร์ซเบื้องต้น
9. กฎหมายดิจิทัล (Digital Law) คือ การที่บุคคลสามารถที่จะเข้าใจสิทธิและข้อจำกัดที่ควบคุมการใช้สื่อดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้ถูกกำหนด โดยภาครัฐ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบทางสังคม ซึ่งเป็นการเคารพสิทธิของผู้อื่นอีกด้วยและรวมไปถึงเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ระบุได้ว่าการกระทำใดเป็นความผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายดิจิทัล ทราบถึงโทษของการกระทำความผิด มีแนวทางป้องกันการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายดิจิทัล